บทความเกี่ยวกับโรค
และ อาหารเสริมต่างๆ
Fiber 1
| fiber 2 |
สุขภาพดีด้วยใยอาหาร
ภญ.ศุภานันท์ เลี้ยงสุพงศ์
--------------------------------------------------------------------------------
ปัจจุบันอาหารจากธรรมชาติได้เข้ามามีบทบาทสำคัญ
ทางด้านโภชนาการเป็นอย่างยิ่ง ทำให้คนเริ่มหันมาให้ความสนใจ อาหารเหล่านี้มากขึ้น
อาหารที่ว่านี้ประกอบด้วยใยอาหารมากมาย
รู้ไหมคะว่า "ใยอาหาร
มีผลต่อสุขภาพร่างกายและกิจวัตรประจำวันของเราอย่างไรกันบ้าง ?"
เพราะในแต่ละวันเราคงจะปฏิเสธอาหารหลักทั้ง 5 หมู่
ไม่ได้ เป็นที่ทราบกันดีว่า โปรตีนมีหน้าที่เสริมสร้างและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ
ของร่างกาย คาร์โบไฮเดรตและไขมันเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญ รวมทั้ง
เกลือแร่ วิตามิน และน้ำก็มีความจำเป็นต่อการทำงานของระบบต่างๆ ภายในร่างกาย
แต่ในปัจจุบันนักโภชนาการได้มีการกำหนด อาหารหลักหมู่ใหม่เพิ่มขึ้นมา
ซึ่งร่างกายมีความต้องการ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าอาหารหลักหมู่อื่นๆ
เลยนั่นคือ "ใยอาหาร"หรือ "Fiber" นั่นเอง
หลายคนคงจะสงสัยว่า ใยอาหารที่พูดถึงอยู่นี้คืออะไร
แท้จริงแล้วก็คือ ส่วนประกอบที่เป็นกากอาหารของพวกพืช ผัก ผลไม้
ธัญพืช และเมล็ดพันธุ์ต่างๆ ซึ่งร่างกายของมนุษย์นั้น ไม่สามารถย่อยสลายได้
และใยอาหารนี้เองที่มีบทบาทสำคัญ ต่อร่างกายมนุษย์ก็คือ
ช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้
ช่วยดูดซับสารก่อมะเร็งที่อาจปะปนมากับอาหาร ซึ่งร่างกายสามารถขับถ่ายออกมาพร้อมกับอุจจาระ
ข่าวดีสำหรับผู้ที่มีปัญหาไขมันและคอเลสเตอรอลในเลือดสูง เจ้าใยอาหารนี่ล่ะค่ะ
จะเป็นตัวช่วยลดการดูดซึมไขมัน และคอเลสเตอรอลในเส้นเลือดได้
นอกจากนี้ สำหรับคนไข้เบาหวานนั้น ใยอาหารยังจะช่วยลดการดูดซึมคาร์โบไฮเดรต
เข้าสู่กระแสเลือดให้ช้าลง ทำให้สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้
และมีผลดีต่อผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักตัวด้วยค่ะ เพราะจะทำให้ร่างกายรู้สึกอิ่ม
และมีความต้องการอาหารน้อยลง
ใยอาหารดังกล่าวมาข้างต้น สามารถแบ่งได้ 2 ประเภทคือ
เส้นใยอาหารที่ไม่ละลายน้ำ
มีคุณสมบัติพองตัวดูดซึมน้ำ ช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้
ให้มีการบีบตัวได้ดี และยังช่วยทำให้อุจจาระอ่อนนุ่มง่ายต่อการขับถ่ายอีกด้วย
ทั้งยังช่วยป้องกันอาการท้องผูกและริดสีดวงทวารหนักได้ ใยอาหารประเภทนี้ได้แก่
เส้นใยจากข้าวบาร์เลย์ ข้าวซ้อมมือ ข้าวฟ่าง กากใยของส้ม ขนมปังโฮลวีท
เส้นใยอาหารที่ละลายน้ำ
เส้นใยประเภทนี้สามารถพองตัวในกระเพาะอาหาร ทำให้รู้สึกอิ่ม
มีความต้องการอาหารน้อยลงเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักตัว
ได้แก่เส้นใยจากเกรฟฟรุต แตงโมลูกพรุน แอปเปิล มะเขือเทศ เป็นต้น
จากคุณสมบัติที่ดีของ "ใยอาหาร" นั้นทำให้เราเริ่มตื่นตัว
และหันมาบริโภคอาหารกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น การรับประทานใยอาหารนั้น
เราควรจะได้รับให้ครบทั้ง 2 ชนิด และในปริมาณที่พอเหมาะเพื่อให้ร่างกายได้รับประโยชน์สูงสุด
โดยแต่ละวันควรได้รับใยอาหารประมาณ 30 กรัมค่ะ และปริมาณดังกล่าวจะไม่มีผลรบกวนการดูดซึมของสารอาหารอื่นๆ
เช่น วิตามินและเกลือแร่ ที่ให้ประโยชน์แก่ร่างกาย
เมื่อรู้จักใยอาหารกันดีแล้ว คราวต่อไป เราควรจะเปลี่ยน
จากการรับประทานข้าวขัดขาวมาเป็นข้าวซ้อมมือแทนกันดีกว่านะคะ และควรเสริมอาหารจำพวกเมล็ดธัญพืช
(ข้าวฟ่าง ลูกเดือย เม็ดบัว) ผัก และผลไม้ ซึ่งให้ใยอาหารในปริมาณสูงแทนอาหารที่ได้รับกันอยู่ทุกวัน
มาเริ่มเปลียนพฤติกรรมในการรับประทานเสียแต่วันนี้ เพื่อสุขภาพที่ดีกว่ากันเถอะค่ะ
ภญ.ศุภานันท์ เลี้ยงสุพงศ์
--------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ที่อนุญาตให้นำมาเผยแพร่
|